คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...

วันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ปลาหมอสี^^




เมื่อทุกท่านตัดสินใจที่จะเลี้ยงปลาหมอสี ซึ่งเป็นปลาสวยงาม เอาไว้ในบ่อหรือภายในตู้ปลาที่บ้านแล้ว เราก็คงจะต้องศึกษาถึงวิธีการเลี้ยงปลาหมอสีของเรา ให้มีสีสวย สุขภาพดี และมีอายุยืนยาวน่ะนะคะ แม้ว่าในสภาพธรรมชาติแล้ว ปลาหมอสีจัดเป็นปลาที่มีความอดทนสูง สามารถปรับตัวอยู่ในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี แต่หากขาดการดูแล ปลาหมอสีที่เราอุตส่าห์ซื้อมาเลี้ยงดู อาจจะมีสุขภาพอ่อนแอลง จนถึงตายได้ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นปัญหาสำหรับมือใหม่ที่อาจจะยังไม่รู้จักวิธีเลี้ยงและดูแลปลาหมอสีได้ดีพอ

ปลาหมอสี
ในวันนี้บล้อกบ้านแสนรัก ได้นำเอาหลักทั่วไปในการเลี้ยงปลาหมอสี ที่เข้าใจง่าย มาฝากกันค่ะ มาดูกันนะคะ ว่าเราสามารถเลี้ยงปลาหมอสีให้มีสุขภาพดีและมีชีวิตยืนยาวได้ด้วยวิธีใดบ้าง

หลักทั่วไปในการเลี้ยงปลาหมอสี

1. อันดับแรกที่จะพูดกันก็คือ เรื่องของน้ำค่ะ น้ำที่ใช้ในการเลี้ยงปลาหมอสีต้องสะอาด ไม่ควรมีเชื้อโรค ที่สำคัญก็คือห้ามใช้น้ำประปาที่เปิดจากก๊อกน้ำโดยตรง เพราะคลอรีนและปูนที่อยู่ในน้ำจะฆ่าปลาได้ในเวลาอันรวดเร็ว ที่ควรทำก็คือควรพักน้ำประปาไว้สัก 2-3 วันจึงนำมาใช้น่ะนะคะ

2. เลือกใช้เครื่องกรองน้ำให้เหมาะกับขนาดของตู้ ซึ่งเครื่องกรองน้ำนี้ก็สามารถหาซื้อได้ตามร้านทั่วไป

3. ขนาดของตู้เลี้ยงปลาหมอสี ควรจะใหญ่สักหน่อยค่ะ หมอสีพันธุ์เล็ก ความยาวของตู้ไม่ควรต่ำกว่า 24 นิ้ว ถ้าเป็นพันธุ์ใหญ่ก็ไม่ควรต่ำกว่า 36 นิ้ว และควรมีสัก 2 ตู้ เพื่อเป็นตู้พักปลา 1 ตู้ ตู้เลี้ยง 1 ตู้

4. ในเรื่องของอาหาร ปลาหมอสีกินอาหารสำเร็จรูปได้ดีค่ะ ซึ่งเราหาซื้อได้ทั่วไป แต่ถ้าที่บ้านใกล้แหล่งเพาะยุงหรือใกล้บริเวณที่มีลูกน้ำลูกไรมาก และหาได้สะดวก ก็ให้ลูกน้ำ ลูกไร เป็นอาหาร ซึ่งเราก็จะประหยัดทั้งเงินและมีอาหารที่มีคุณค่าดีให้กับปลาด้วยน่ะนะคะ

5. ก้อนหิน ก้อนกรวด พันธุ์ไม้น้ำที่เราคิดว่าจะจัดลงไปในตู้นั้น ควรจะทำความสะอาดให้ดีก่อนใส่ลงไปค่ะ  ก้อนหินควรจะแช่น้ำลดความเป็นด่างลง พันธุ์ไม้น้ำควรจะพักไว้ในถังหรือตู้อื่นๆ รอจนมันฟื้นตัวได้แล้วค่อยนำมาจัดวางในตู้

6. ตู้ปลาควรจะตั้งอยู่ใกล้กับที่พักน้ำเพื่อเปลี่ยนน้ำในตู้ปลาได้สะดวก

7. ก่อนเลี้ยงปลาต้องถามตัวเองก่อนว่ามีเวลาดูแลไหม และคนรอบข้างจะยินดีที่คุณจะเลี้ยงปลาหรือไม่ เพราะคนรอบข้างนั้นก็คือคนที่อาจจะต้องมาช่วยงานของคุณ ขณะเปลี่ยนน้ำตู้ปลาน่ะนะคะ
ปลาหมอสี
เมื่อปฏิบัติได้ครบทั้ง 7 ข้อแล้ว คราวนี้ก็เริ่มลงมือเลี้ยงกันได้เลยค่ะ

เมื่อแกะถุงใส่ปลาถูกออก และปลาฝูงแรกถูกปล่อยลงตู้แล้ว ทุกตัวพร้อมใจกันว่ายเข้าหาที่ซ่อน ไม่ต้องตกใจนั่นเป็นสัญญาณของปลา สักครู่ตัวที่กล้าหน่อยหรือตกใจน้อยหน่อยจะเริ่มว่ายน้ำสำรวจที่อยู่อาศัยใหม่ ตัวอื่นๆก็จะตามมาที่มีนิสัยรวมฝูงก็จะรวมกัน บางตัวก็ว่ายเที่ยวแล้วแต่ชนิดและนิสัยของแต่ละตัว

ในวันแรกของการเลี้ยงปลาหมอสีไม่ต้องให้อาหารนะคะ วันที่สองเมื่อปลาส่วนใหญ่สงบลงแล้วเริ่มให้อาหารเล็กน้อย เป็นอาหารมีชีวิตได้ก็ดีค่ะ เช่น ลูกน้ำ หรือไร ถ้าไม่มีก็สามารถให้อาหารเม็ดได้ ให้น้อยๆ และดูจนกว่าปลาจะกินอาหารเม็ดหมด ทิ้งไว้สัก 2-3 ชั่วโมง ถ้ามีเศษอาหารเหลือก็ให้ตักออกทิ้งไป สัปดาห์แรกผ่านไปคุณก็จะกะประมาณอาหารที่ให้ปลาได้ดีขึ้น
ปลาหมอสี
อาหารที่ให้ ขอให้ให้แต่พอดีค่ะ น้ำจะใสและไม่เสีย หากมีปลาตายก็รีบตักออกไปจากตู้โดยเร็ว โดยสังเกตุด้วยว่า ปลาที่ตายสภาพอย่างไร ถ้าครีบขาดรุ่งริ่งแสดงว่ามันกัดกัน ให้แยกตัวที่ก้าวร้าวออกไปใส่ไว้ในตู้พักปลาน่ะนะคะ ถ้าสภาพตัวยังสมบูรณ์ก็เกิดจากหลายสาเหตุ และถ้าปลาตายติดต่อกันทุกวันก็ต้องเปิดตำราและถามผู้รู้เพื่อหาวิธีแก้ไขแล้วล่ะนะคะ เมื่อเข้าสัปดาห์ที่สองเป็นต้นไป ปลาหมอสีก็จะเริ่มคุ้นกับคุณแล้วค่ะ มันจะเริ่มไม่กลัวและว่ายมาหาคุณ ยิ่งถ้าคุณอยู่ดูมันนานเท่าไหร่ มันก็จะยิ่งคุ้นกับคุณมากขึ้นเท่านั้น การสื่อสารระหว่างคุณกับปลาก็จะยิ่งรู้เรื่องกันมากขึ้นอย่างที่เราเคยเห็นปลาหมอสีที่เชื่อง ๆ กับเจ้าของนั่นเิองน่ะนะคะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น